การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน

ในอดีตที่ผ่านมาการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ได้ใช้นโยบายและมาตรการคุ้มครองอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ โดยการห้ามหรือจำกัดการนำเข้า การบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ ซึ่งแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนในประเทศเจริญเติบโตขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น แนวโน้มการรวมตัวกันของบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ และทิศทางการค้าเสรีที่เกิดขึ้นทั่วโลกได้ส่งผลให้ประเทศไทยต้องมีการยกเลิกการบังคับใช้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในประเทศ รวมทั้งนโยบายการปกป้องอุตสาหกรรม ทำให้เกิดสภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นฐานการผลิตและจัดจำหน่ายทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ และที่สำคัญเป็นผู้นำในด้านการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ และส่วนประกอบในภูมิภาคอาเซียน จึงนับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้ประกอบการไทยควรวางแผนบุกตลาดในอาเซียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มประเทศในอาเซียนมีแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเรื่อยๆ หากสามารถเจาะตลาดประเทศกลุ่มนี้ได้ก็จะเป็นการสร้างโอกาสในการเพิ่มช่องทางในการจัดจำหน่ายและเพิ่มยอดการส่งออกสินค้าให้ได้มากยิ่งขึ้น ในขณะที่ความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ก็ยังมีทิศทางที่ดีและมีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายในประเทศและนโยบายของรัฐบาลประเทศต่างๆในการลงทุนระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงระหว่างประเทศล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความต้องการรถยนต์ของประชาชนในประเทศอาเซียนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนต์ จัดเป็นอุตสาหกรรมในระดับต้นที่มีความสําคัญต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การพัฒนาด้านเทคโนโลยียานยนต์ ตลอดจนการพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนอื่นๆและธุรกิจที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ในเอเซีย สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ โดยมีอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีความแข็งแกร่ง โดยมีกลยุทธ์หลักคือการสร้างสภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ทั้งนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการหารือในการจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นเพื่อให้มีการดำเนินงานที่ส่งผลดีต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย

การเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ของบริษัทแม่จากต่างประเทศ

แนวโน้มการแข่งขันทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมยานยนต์ในตลาดโลกได้มาถึงจุดเปลี่ยนภายใต้กระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การประหยัดพลังงาน และการลดภาวะโลกร้อน โดยที่ตลาดยานยนต์โลกได้เปลี่ยนแปลงไปสู่รถยนต์ที่มีขนาดเล็กลง ทำให้ต้องมองหาฐานการผลิตที่ใช้ต้นทุนต่ำ ส่งผลให้ประเทศเม็กซิโกกลายมาเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์เพราะเป็นประตูสู่ตลาดอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้ เนื่องจากต้นทุนที่ต่ำ แรงงานที่มีฝีมือ มีที่ตั้งอยู่ติดกับตลาดยานยนต์รายใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา

ในธุรกิจและอุตสาหกรรมยานยนต์

ผู้เข้ามาผลิตและจำหน่ายรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนโดยบริษัทแม่จากต่างประเทศทั้งสิ้น โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้ในจังหวะที่ตลาดรถยนต์เมืองไทยกำลังเริ่มต้นตั้งไข่ รถยนต์เหล่านี้เข้ามาขายโดยมีบริษัทคนไทยเป็นผู้นำเข้า หรือลงทุนไลน์การผลิตในประเทศแทบทั้งสิ้น การเข้ามาของบริษัทแม่ของบริษัทรถยนต์ในประเทศไทย เป็นดัชนีชี้วัดถึงการมองเห็นโอกาสและศักยภาพของตลาดรถยนต์ในประเทศไทยจากปีละไม่กี่หมื่นคันในอดีต จนมาถึงปีนี้ที่คาดว่ายอดขายจะทะลุถึง 7.5 แสนคัน ไม่นับถึงปีหน้าที่เชื่อว่ายอดขายจะพุ่งสูงมากขึ้นกว่าปีนี้อีกมาก จากการเข้ามาลุยตลาดของบรรดารถเล็กในเซกเมนต์บีคาร์ หรือบบรรดาอีโคคาร์ทั้งหลายที่กำลังจะออกมาในช่วงต้นปีหน้า ที่มีจุดขายในเรื่องของการประหยัดพลังงาน และประหยัดราคา

ตลาดรถยนต์เมืองไทย ได้รับการกล่าวขานกันว่าเป็นตลาดปราบเซียน และใช่ว่าการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่จากต่างประเทศจะสามารถบันดาลให้รถยนต์แบรนด์นั้นสามารถปั๊มยอดขายอย่างเป็นกอบเป็นกำ ดีไม่ดีอาจถึงต้องม้วนเสื่อกลับบ้านดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หากการเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่เป็นเพียงแค่ต้องการตั้งเป็นสำนักงานสาขา ไม่มีการลงทุนการผลิตในประเทศ และแผนการส่งออกในอนาคต เมื่อเป็นเช่นนี้การเข้ามาลงทุนของบริษัทแม่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่ในระดับโลกเพียงใด แต่สุดท้ายก็อาจพ่ายให้กับค่ายรถญี่ปุ่นที่ฝังตัวอยู่ในตลาดรถยนต์มานาน

ธุรกิจยานยนต์ในประเทศไทยมีโอกาสที่จะเติบโตได้เรื่อยๆ

แต่การทำตลาดจะต้องดูจังหวะเป็นช่วงๆไป ที่ผ่านมาการแข่งขันออก Campaign และ Promotionต่างๆในธุรกิจยานยนต์แทบจะใช้กันครบทุกทุกเครื่องมือก็ว่าได้ และทุ่มงบกันแบบเทหน้าตักก็ว่าได้ เนื่องจากผู้บริโภคได้ถูกกระตุ้นด้วยแรงจูงใจตามโครงการรถยนต์คันแรกจากรัฐบาล ซึ่งคงจะต้องจับกลุ่มลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้น หรือกลุ่มรถครอบครัวที่มีราคาค่อนข้างสูงไปเลย ซึ่งกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ซื้อด้วยอารมณ์หรือไม่ต้องตัดสินใจมาก หรือกลุ่มที่จะซื้อเพื่อให้สื่อความหมายในด้านฐานะ ดังนั้นค่ายรถยนต์ต่างๆ อาจจะต้องหา Segment ใหม่ๆหรือกลุ่มที่จำเป็นที่ต้องใช้รถในด้านอุตสาหกรรมหรือขนส่ง เช่น รถกระบะ รถพ่วง หรือรถบรรทุก